TILES
WORLD-CLASS DESIGNER
KITCHEN
สร้างสรรค์พื้นที่ ตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์
ชารีฟ ลอนา กับคุณค่าแห่งยุคสมัย ที่ตีความใหม่สู่งานออกแบบ
การเปลี่ยนผ่านของยุคสมัย และการอยู่อาศัยร่วมกันของคนหลากหลายวัย ส่งผลทำให้แนวคิดการออกแบบที่อยู่อาศัยต้องปรับเปลี่ยนไปอย่างไร แล้วความงามแบบไหนที่ทำให้คนต่างรุ่น ต่างมุมมอง เห็นพ้องต้องกันได้ เราจะมาหาคำตอบจาก “ชารีฟ ลอนา” Design Director และ Head Designer ของ Studio Act of Kindness นักออกแบบผู้สนใจศิลปะ ประวัติศาสตร์ การตีความ และการผสมผสานศาสตร์หลากแขนงเข้าด้วยกัน (Multidisciplinary) พร้อมค้นหานิยามของ “RE DESIRE FOR LIFE” ที่สะท้อนผ่านกระบวนการออกแบบที่นำรูปแบบหรือเอกลักษณ์ดั้งเดิมของแต่ละยุคสมัยมาตีความ และสร้างสรรค์ใหม่ สู่งานร่วมสมัยที่ RE WILD หรือ Rewind ให้คุณค่าแห่งยุคสมัยไม่ว่าเก่าแค่ไหนก็สามารถหมุนกลับมามีชีวิตอีกครั้งได้ไม่มีวันสิ้นสุด
แนวคิดการทำงานของ Studio Act of Kindness
“Studio Act of Kindness ของเรา มีความเป็นแบบ Multidisciplinary โดยทีมของเราทุกคนจะมีความสนใจ หรือมี Background ที่แตกต่างหลากหลายกัน มีทั้งคนทำเสื้อผ้า ทำภาพยนตร์ หรือเคยทำ Branding มาก่อน แต่สุดท้ายทุกคนมาทำงานอยู่บนพื้นฐานเดียวกันคือ Interior Design และ Architecture Design และในความหลากหลายนี้มีประโยชน์ เพราะการทำงานดีไซน์ที่ดีในปัจจุบันนี้มันไม่ได้มาจากความคิดเดียว มันต้องมี Experience อย่างอื่นเข้ามา ถึงจะทำให้แนวคิดการออกแบบของเราเปิดกว้างมากขึ้น ดังนั้นถ้าถามถึงสไตล์ เราอาจไม่มีสไตล์หรือคาแรคเตอร์ชี้ชัด แต่เรามีแนวคิดชัดเจน คือวิธีการทำงานที่นำสิ่งที่อยู่ขั้วตรงข้ามกันมาตีความให้เกิดเป็นรูปแบบสไตล์ที่ทุกคนเข้าใจได้ง่าย แต่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว หรือการนำเรื่องราวของประวัติศาสตร์ หรือช่วงยุคสมัยเข้ามาใช้ในการตีความสำหรับงานดีไซน์”
ยุคประวัติศาสตร์ กับงานออกแบบ
“ตัวผมเองเป็นคนชอบประวัติศาสตร์อยู่แล้ว ดังนั้นเวลาทำงานจึงมักหยิบ History มาตีความใหม่ และใส่รายละเอียดใหม่ ที่ทำให้เกิดการตั้งคำถามว่า เป็นงานดีไซน์ที่เคยเห็น หรือยังไม่เคยเห็น แล้วมันคืออะไร
“หากกล่าวถึงประวัติศาสตร์ศิลปะที่ผมชื่นชอบที่สุด เป็นช่วงยุค Post-War อย่าง Brutalism และ Stalin Architecture ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความหนักแน่น ความกดดัน การกดขี่ และการเมือง ที่ถูกตีออกมาเป็น Poetry จนถึงในรูปแบบเชิงสัญลักษณ์ผ่านงานสถาปัตยกรรม ดังนั้นจึงเป็นยุคที่มีเรื่องของความรู้สึก และความหนักหน่วงเข้ามา ซึ่งมีอิทธิพลกับผมมาก เหมือนเป็น Framework ในการตีความด้านความงาม และเป็นพื้นฐานที่ผมใช้ตีความยุคสมัยอื่นๆ ด้วยครับ เช่น การเปลี่ยนเป็นโทนสีตุ่นๆ หรือการออกแบบให้ผิดรูปแบบจากเดิมบ้าง จะทำให้เกิดความงามที่เปลี่ยนไปมั้ย”
การหยิบยกศิลปะในแต่ละยุคมาปรับใช้ในงานออกแบบอินทีเรียสำหรับลูกค้า
“ลูกค้าส่วนใหญ่จะชอบยุคที่มีความ Classical เพราะเป็นความสวยงามที่ค่อนข้างจะสมบูรณ์แบบที่สุดในประวัติศาสตร์ ด้วยมันมี Order มีกฎเกณฑ์ที่ถูกจัดการไว้เรียบร้อยแล้ว แต่ในการทำงานของเราเองรู้สึกว่าการหยิบ Classical มาใช้เลย ผมรู้สึกว่ามันเหมือนเป็นแมวขโมยไปหน่อย ในฐานะที่เรามีพื้นฐานทางด้านสถาปัตย์ ออกแบบภายใน จนถึงแฟชั่น ผมมองว่าเรื่องของการตีความเป็นสิ่งที่น่าสนใจมาก ไม่ว่าจะเป็นการตีความสไตล์ Classical ใหม่ในบริบทของเรา หรือการตีโจทย์ตามคาแรคเตอร์ลูกค้า ซึ่งเราจะนำมาตีความใหม่ให้เข้ากับพื้นที่ หรือปรับเปลี่ยนโทนสีให้เป็นคู่ตรงข้ามกัน หรือนำสีจากอีกยุคมาใช้ ดังนั้นการตีความ จึงนำมาสู่การปรับเปลี่ยนทั้งในเรื่องของรูปทรง โทนสี และสัดส่วนในงานอินทีเรียดีไซน์ ซึ่งผมโชคดีที่ลูกค้าค่อนข้างเคารพในความเป็นเรา เขาอยากให้เราใส่มุมมองความคิดเราเข้าไปในงาน ที่สะท้อนความเป็นเขาในรูปแบบที่เราตีความ”
แนวคิด Design for All Generation
"ตัวผมเองก็โตมากับวัฒนธรรมที่มีความเป็นแบบ Religious สูงๆ ในบ้านที่มีความเคร่งครัดทางศาสนา มีเรื่องวิชาการสูงมาก ซึ่งถ้าศึกษาจริงๆ มันคือ ภูมิปัญญา ความรู้ ซึ่งผมรู้สึกว่าสิ่งเหล่านั้นคือระบบที่ผมอยากจะนำมาต่อยอดและทำให้ชัดเจนในรูปแบบผมเอง ซึ่งจริงๆ ผมว่าบ้านเรามีวัฒนธรรม ที่ไม่ว่าจะกี่รุ่น เราไม่ค่อยจะออกไปใช้ชีวิตหรือไปโตนอกบ้านเหมือน Western Culture หรือประเทศอื่นๆ ซึ่งเป็นคาแรคเตอร์หนึ่งที่กำหนดทิศทางของการสร้างบ้านหรือ Vernacular Culture ในไทยมากๆ ที่มีความเป็น Heritage ส่งผ่านจากรุ่นสู่รุ่น หรือการอยู่อาศัยร่วมกันของคนต่างวัย”
การอยู่ร่วมกันของ “ความงาม” ผ่านมุมมองแตกต่างกันของคนต่างวัย
“ผมว่าการรับรู้ต่องานดีไซน์ หรือความงาม เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันยากที่สุดในความต่าง ในขณะที่คนยุคก่อนมองว่าความสวยงามควรเป็นเรื่องที่ระลึกถึงได้ และจับต้องใจโดยไม่ต้องมีเลเยอร์มาก แต่คนรุ่นใหม่มองว่า Identity สำคัญ ดังนั้นความสวยนั้นต้องสะท้อนเอกลักษณ์ตัวตนได้ด้วย เมื่อคนแต่ละยุคมีมุมมองต่อความงามของบ้าน อาคาร หรือสเปซที่ต่างกัน คีย์สำคัญจึงเป็นการหาความงามสมดุลที่ทุกคนเห็นพ้องต้องกันได้
“แม้จะเป็นเรื่องที่ค่อนข้าง Subjective และมีความยาก แต่สิ่งที่ผมทำได้คือในฐานะ Interior Designer คือนำเสนอความงามที่จับต้องได้ ผ่านวัสดุ เช่น กระเบื้อง ผ้า วอลล์เปเปอร์ ฯลฯ ที่เชื่อมโยงความงามในอดีต ผ่านการลดทอน หรือปรับให้ดูทันสมัยขึ้น เพื่อสะท้อนคาแรคเตอร์ของคนรุ่นใหม่ได้ด้วย ดังนั้นในกระบวนการคิดออกแบบ ผมจะไม่ทิ้งมุมมองความงามทั้งจากคนรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ ไม่ว่าจะเป็นพื้นลายดอกไม้ และงานภาพวาดเหมือนที่คนยุคก่อนเติบโตมาและเข้าใจกัน หรือจะเป็นความงามในแบบคนรุ่นใหม่ที่อินกับงานแนว Geometric หรือภาพวาดที่มัน Abstract มากขึ้น ผมว่างานดีไซน์จุดสมดุล คือการประนีประนอม และมีตรงกลางที่สามารถเชื่อมระหว่างสองมุมมองความงาม ที่ทำให้คนต่างวัยอยู่ร่วมกัน และเห็นพ้องต้องกันในความงามร่วมกันได้ครับ”
งานกระเบื้องที่สะท้อนความงามสำหรับคนทุกวัย
“กระเบื้องนี่ผมว่าเป็นตัวแปรสำคัญของการสร้างบ้านหรือ Space Interior เลย เพราะพฤติกรรมของคนไทยเอง เวลาก้าวเท้าเข้าไปในบ้าน เราแทบจะมองพื้นก่อนเป็นสิ่งแรก ผมว่ากระเบื้องเป็นตัวสำคัญมาก ทั้งบ่งบอกคาแรคเตอร์ และสะท้อนความงามที่ทุกคนเข้าใจในห้องนั้นๆ ได้ด้วย นอกเหนือจากผนัง และฝ้า พื้นก็เป็นสิ่งที่คอยนำสายตาเราไปทุกที่ในสเปซ”
นิยามของ RE-DESIRE FOR LIFE
“RE-DESIRE FOR LIFE เหมือนเป็นปรัชญาอย่างหนึ่งที่สะท้อนความรู้สึก และสะท้อนการเปลี่ยนผ่านจากความคิด ความรู้สึก หรือสิ่งที่ลูกค้าต้องการให้ออกมาเป็นรูปธรรมให้ได้ บ้านหลังหนึ่งอาจเป็นสมบัติของเขาทั้งชีวิต หรือเป็น Monument ของเขา ดังนั้นในการออกแบบเราจึงต้องทุ่มทั้งในเรื่องของความคิด ความรู้สึก เพื่อให้ได้ผลงานที่เหมือนเป็นภาพตัวแทนสิ่งล้ำค่าอันหนึ่ง ที่ใช้การออกแบบเป็นเครื่องมือ และให้สิ่งนี้มันอยู่โลดแล่นของมันต่อไปตามกาลเวลา และผมว่า ‘Desire' เป็นสิ่งทุกคนรู้สึกร่วมกันได้”
มุมมองต่อเทรนด์ RE WILD
“งานออกแบบมีอิทธิพลต่อความรู้สึกของคนในแต่ละช่วงเวลาแตกต่างกัน มีขอบเขตและบริบทไม่เหมือนกัน กล่าวคือ แต่ละคนมี Perception หรือการรับรู้ต่องานดีไซน์ การมองเห็นความสวยงาม หรือการยอมรับในดีไซน์นั้นๆ ที่ต่างกันในแต่ละยุคแต่ละสมัย ผมรู้สึกว่าอะไรที่มันเป็น Culture หรือ Traditional มากๆ แล้วไม่ปรับเปลี่ยนเลย วันหนึ่งอาจจะล่มสลายหรือตายไปกับกาลเวลา เพราะไม่สามารถปรับใช้หรือเข้ากับยุคสมัยใหม่ๆ ได้ ดังนั้นหากงานดีไซน์สามารถทำหน้าที่เป็นของเหลว ที่สามารถปรับเปลี่ยนตัวเองไปตามยุคสมัย หรือตามความเข้าใจของคนได้ ผมว่าจะทำให้งานดีไซน์สามารถต่อยอด คงอยู่ต่อไปได้เรื่อยๆ ครับ
“ดังนั้นผมว่าคำว่า ‘Desire’ นี่แหละที่จะเป็นตัวขับเคลื่อน ทำให้แม้มีปัจจัยเรื่องเวลาหรือยุคสมัย แต่คนยังสามารถเห็นความงามที่พ้องต้องกันได้ ซึ่งเป็นเหมือนปรัชญาของผม และของสตูดิโอด้วย แม้เราจะทำงานจากแรงบันดาลใจเดียวกัน หรือในยุคสมัยเดียวกัน แต่เราจะปรับเปลี่ยนให้มันโตขึ้นในแต่ละโจทย์ที่ต่างกัน เปรียบเปรยเหมือนเราวาดท้องฟ้า ทำไมเราต้องวาดท้องฟ้าอย่างที่เห็น เพราะเราสามารถเป็นก้อนเมฆอีกรูปแบบหนึ่ง ที่สามารถสื่อถึงก้อนเมฆได้ ผมรู้สึกว่าแบบนี้มันน่าสนใจกว่า และสามารถต่อยอดวงการการออกแบบ หรือวัฒนธรรมที่สามารถใช้งานออกแบบมาเป็นเครื่องมือในการต่ออายุให้คงอยู่ได้ครับ”